โรคมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูก คือภัยใกล้ตัวสำหรับผู้หญิง มาดูการรักษาและวิธีป้องกันด้วยวัคซีน

จะกล่าวกันได้ว่า โรคที่น่ากลัวสำหรับผู้หญิงอันดับต้น ๆ เลยคือ โรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัวและอาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน หากไม่ได้รับการดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี แต่จะขอบอกว่าโรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ และการรักษาก็ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่คิดเลย  วันนี้เรามาเจาะลึกเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกกัน เพื่อสาว ๆ จะได้นำไปปฏิบัติกันได้อย่างเคร่งครัด

โรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร

เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณปากมดลูกของผู้หญิง จากเชื้อไวรัส HPV Human Papillomavirus สายพันธุ์ที่ดุร้ายที่สุดคือสายพันธุ์ 16 และ 18 พบเป็นสาเหตุของ โรคมะเร็งปากมดลูก ถึงร้อยละ 70-80  เป็นไวรัสที่มีอยู่ได้ทั้งในร่างกายผู้ชายและผู้หญิง ติดต่อกันผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในระบบสืบพันธุ์สตรี 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือ การฉีกขาดของช่องคลอดในกรณีของผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การไม่รักษาสุขอนามัยบริเวณช่องคลอด การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การอักเสบและมีแผลที่ปากมดลูกและทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษา มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การสูบบุหรี่ และดื่มสุรา รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังนี้

  • การสูบบุหรี่ Smoking การสูบบุหรี่ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพต่ำลงในการต้านทานกับเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยสตรีที่สูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  • ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือติดเชื้อเอชไอวี Human  Immunodeficiency Virus-HIV ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ มีโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อเอชพีวี นำมาสู่โรคมะเร็งปากมดลูก เพราะระบบภูมิคุ้มกันเป็นระบบที่มีความสำคัญในการต้านทานเซลล์มะเร็งไม่ให้เจริญเติบโตหรือแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
  • มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เช่น หนองใน ซิฟิลิส หรือ เริม ทำให้ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ และติดเชื้อเอชพีวีได้ง่าย 
  • ปัจจัยทางพฤติกรรมการบริโภค คือ หากบริโภคผักผลไม้อาหารกากใยไม่เพียงพอจะเพิ่มโอกาสเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
  • สตรีที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือ เป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้
  • มีประวัติการตั้งครรภ์ที่ครบกำหนดบ่อยครั้ง การตั้งครรภ์มากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้
  • มีประวัติการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ คือสตรีที่มีบุตรก่อนวัยอันควรมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าสตรีทั่วไปที่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป
  • มีพฤติกรรมการใช้เม็ดยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ติดต่อกันเกินกว่า 4-5 ปี มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ แต่หากหยุดใช้ยาความเสี่ยงจะหมดไป
  • ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม สตรีที่มีรายได้น้อยอาจไม่ได้รับบริการทางสุขภาพที่เพียงพอและไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวีในทุกปี จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้

สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกนั้น ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงวัย 30-55 ปี โดยมีสาเหตุสำคัญที่สุดได้แก่ ไวรัส HPV ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยไวรัสตัวนี้จะใช้เวลาเฉลี่ยราว 5-10 ปีในการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อปากมดลูกปกติให้กลายเป็น โรคมะเร็งปากมดลูก รวมถึงอีกหลายสาเหตุดังนี้

  1. มีจำนวนการตั้งครรภ์ การคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง
  2. รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
  3. มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุยังน้อย
  4. มีคู่นอนหลายคน หรือ มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน
  5. มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส
  6. สูบบุหรี่
  7. ขาดการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  8. ขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะผู้หญิงที่รับประทานผักและไม้น้อย มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดพบบ่อย รวมถึงโรคมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าคนที่รับประทานผักและผลไม้มก

สาเหตุสำคัญที่เป็นตัวการของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง Oncogenic Type เช่น Type 16 และ 18 ที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ผิดปกติอันนำมาสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ติดเชื้อ และเกิดการติดต่อได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางปาก ช่องคลอด ทางทวารหนัก

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก

การคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปสเมียร์ Pap Smear ในผู้หญิงอายุ 35-60 ปี ทุก 5 ปี ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประเทศจะสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 44 การคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ จึงเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายไม่สูง และเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายกันมานานจนถึงปัจจุบัน ในผู้หญิงคือ ควรรับการตรวจแปปสเมียร์ครั้งแรกเมื่ออายุระหว่าง 30-35 ปี และควรตรวจเป็นประจำทุก 1-3 ปี

ขั้นตอนการทำแปปสเมียร์ Pap Smear

สามารถทำได้ระหว่างการตรวจภายในที่ห้องตรวจโดยสูตินรีแพทย์ การตรวจใช้เพียงเวลา 1-2 นาที ในการเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดด้านในป้ายลงบนแผ่นสไลด์แก้ว ก่อนนำแผ่นสไลด์ส่งไปย้อมสีด้วยวิธีการเฉพาะแล้วให้พยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์

การตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป Colposcope

กล้องส่องปากมดลูกเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจและส่องดูรายละเอียดรอยโรคของปากมดลูก โดยมีเลนส์ที่มีกำลังขยาย 6-40 เท่า สำหรับดูการติดสีที่ผิดปกติ ความคมชัดของรอยโรค เส้นเลือดที่ผิดปกติบริเวณผิวของปากมดลูก

การตรวจคัดกรองด้วยวิธีลิควิดเบส Liquid-based Cytogy

คือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะโรคในการเก็บตัวอย่าง ป้ายเยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูก และนำเซลล์ตัวอย่างที่เก็บได้ทั้งหมดใส่ลงในขวดน้ำยาเพื่อรักษาเซลล์ส่งเข้าเครื่องอัตโนมัติในการเตรียมเซลล์เยื่อบุผิวที่ปราศจากสิ่งปนเปื้อนพวกมูก เม็ดเลือด ลดการซ้อนทับของเซลล์ที่หนาแน่เกินไปลงบนแผ่นสไลด์แก้ว

การตรวจเนื้อเยื่อ Biopsy

เมื่อการตรวจเนื้อเยื่อเป็นผลลบ ควรนำชิ้นเนื้อตรงจุดที่หก เก้า สิบสอง และสามบริเวณรอยต่อของเซลล์เยื่อบุผิวไปทำการตรวจ หรือใช้เครื่องมือขูดช่องปากมดลูกเพื่อนำเซลล์ไปตรวจทางพยาธิวิทยาต่อ

การทดสอบด้วยไอโอดีน

เป็นการตรวจดูปากมดลูกด้วยกล้องคอลโปสโคป แล้วทาปากมดลูกและเยื่อเมือกช่องคลอดด้วยไอโอดีนที่มีความเข้มข้น 2% บริเวณที่ไม่เกิดสีจะได้ผลเป็นลบ หากพบส่วนที่มีผลลบผิดปกติควรตัดชิ้นเนื้อส่วนนั้นส่งตรวจทางพยาธิวิทยาทันที

การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปโคน Cone Biopsy

เมื่อการตรวจเนื้อเยื่อไม่สามารถชี้ชัดว่ามะเร็งไม่มีการลุกลาม ก็จะทำการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปโคนเพื่อทำการตรวจต่อไป

อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก

  1. มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างไม่ทราบสาเหตุ เช่น ขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ หลังการตรวจภายในยังคงมีเลือดออกจากช่องคลอด หรือ หลังจากหมดประจำเดือน หรือ มากะปริดกะปรอยผิดปกติ
  2. มีอาการเจ็บ ขณะมีเพศสัมพันธ์
  3. มีตกขาวอย่างเห็นได้ชัด และอาจมีเลือดปน
  4. ปัสสาวะบ่อย หรืออาจปวดบวม ปัสสาวะไม่ออก
  5. มีสารคัดหลั่งออกมาจากช่องคลอดมากผิดปกติ หรืออาจปนเลือด
  6. เบื่ออาหาร ซูบผอม น้ำหนักลง
  7. ปวดท้องน้อย
  8. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  9. หากอาการรุนแรงขึ้น อาจมีอาการขาบวม ปวดหลัง ปัสสาวะมีเลือดปน

โรคมะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ

  • ระยะที่ศูนย์ – เซลล์มะเร็งยังอยู่ผิวส่วนบนของปากมดลูก โดยมีชื่อเรียกได้อีกชื่อว่า มะเร็งในจุดกำเนิด
  • ระยะที่หนึ่ง – เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก และเริ่มลุกลาม
  • ระยะที่สอง – เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าช่องคลอด แต่ยังไม่ถึง1 ใน 3 ของช่องคลอด หรืออาจลุกลามเข้าที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก แต่ไม่ถึงผนังของเชิงกราน
  • ระยะทีสาม – เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปถึง 1 ใน 3 ส่วนล่างของช่องคลอด หรือลุกลามไปถึงกระดูกเชิงกราน กดทับท่อไต เริ่มเกิดการอุดตันของระบบปัสสาวะ
  • ระยะที่สี่ – เซลล์มะเร็งลุกลามออกจากส่วนอวัยวะเพศ ผ่านกระดูกเชิงกรานลามเข้าในลำไส้ตรง และ กระเพาะปัสสาวะโดยตรง หรือลามไปบริเวณอื่น ๆ ได้อีก

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

  1. การใช้รังสีรักษา Radiotherapy การใช้รังสีรักษามีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่การฉายรังสีจากภายนอก External Irradiation และ การใส่แร่ในโพรงมดลูกและช่องคลอด Intracavitary Irradiation / Brachytherapy  ในการรักษาด้วยการฉายรังสีทำขึ้นเพื่อทำลายก้อนมะเร็งของปากมดลูก การใช้รังสีเพื่อการรักษามีบทบาทมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก โดยจากสถิติพบว่าผู้ป่วยใช้วิธีการรักษาด้วยรังสีเป็นหลัก เพราะสามารถใช้รักษากับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกได้ทุกระยะ
  2. การให้ยาเคมีบำบัด Chemotherapy คือการให้ยาเคมีบำบัด การทำคีโม หรือการใช้ยาเพื่อทำลายการก่อตัวเกิดขึ้นของเซลล์มะเร็ง และป้องกันการลุกลาม ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาถึงการรักษาด้วยวิธีการนี้โดยมีระยะอาการมะเร็งผู้ป่วยเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่มีระยะลุกลาม
  3. การผ่าตัด Surgery คือการผ่าตัดมะเร็งบริเวณอวัยวะบางส่วนของร่างกายออกไป ได้แก่ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้าง Radical Trachelectomy การตัดมดลูกและปากมดลูกออก Hysterectomy และการผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง Radical Hysterectomy  ส่วนมากแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 1 และ 2 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ การลุกลามของมะเร็งที่พบด้วย สำหรับการผ่าตัดสามารถทำได้ 3 วิธีคือ การผ่าตัดทางหน้าท้อง,  การผ่าตัดทางช่องคลอด และ  การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง
  4. การใช้กล้องเป็นอุปกรณ์ช่วยในการผ่าตัด โดยมีข้อดีคือ ช่วยลดอาการ ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยผู้ป่วยจะใช้เวลาในการพักฟื้นเพียงระยะเวลาอันสั้น 1-2 วัน และการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องช่องท้องจะมีบาดแผลจากการผ่าตัดขนาดที่เล็กกว่าแบบอื่น ๆ
  5. การรักษาร่วม Combined Treatment เป็นการรักษาหลายวิธีร่วมกัน คือมีวิธีการให้ยาเคมีบำบัดควบคู่กับการใช้รังสีรักษา Concurrent Chemoradiation จะเพิ่มประสิทธิภาพทำให้ทราบผลการรักษาด้วยการใช้รังสีได้ดีเยี่ยม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย โดยเราจะใช้วิธีการนี้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลาม

มะเร็งปากมดลูกระยะแรก

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกขึ้นอยู่กับระยะของโรค คือ ระยะก่อนมะเร็งเป็นการรักษาเฉพาะที่เช่น การจี้ด้วยความเย็นหรือความร้อนในการทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ การตัดปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า ส่วนระยะมะเร็งแล้ว ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ถึงขั้นนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งต่างจากการผ่าตัดมดลูกทั่วไป คือเป็นการผ่าตัดแบบ ถอนรากถอนโคน หรือการผ่าตัดเอาปากมดลูกเนื้อเยื่อรอบ ๆ ปากมดลูก ช่องคลอดส่วนต้นและต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นออกทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ ซึ่งการผ่าตัดทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้องและผ่าตัดผ่านกล้อง

มะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย

ระยะมะเร็งแล้ว ระยะที่ 3 และ ระยะที่ 4 มะเร็งจะลุกลามออกนอกปากมดลูก การรักษาประกอบด้วยการเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา ( Concurrent Chemoradiation ) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทำให้ผลการรักษาด้วยรังสีออกมาได้ดีเยี่ยม เพื่อคุมไม่ให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง และเนื้อเยื่อชั้นในรอบมดลูก แต่หากมะเร็งลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองและกระดูกเชิงกราน จะส่งผลให้ไต กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ

วิธีดูแลหลังการผ่าตัดโรคมะเร็งปากมดลูก

  1. การดูแลด้านสุขอนามัย – หลังการผ่าตัดควรล้างช่องคลอดด้านนอกและปากท่อปัสสาวะวันละ 2 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาดของช่องคลอด และสามารถรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ
  2. การดูแลด้านการออกกำลัง – ฝึกซ้อมการหายใจส่วนท้องและฝึกขมิบทวารหนัก เพื่อเพิ่มพลังการหดตัวของกล้ามเนื้อท่อปัสสาวะ และกล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะ ช่วยฟื้นฟูระบบประสาทของกระเพาะปัสสาวะ
  3. การดูแลด้านการบริโภค – ควรรับประทานอาหารวิตามินสูง โปรตีนสูง และอาหารที่ย่อยง่ายให้มาก เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร คู่นอนหลายคน 
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกระยะแรกนั้นไม่มีอาการแต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรองพร้อมการตรวจภายในประจำปี
  • เมื่อพบเซลล์ผิดปกติ หรือตรวจพบรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งต้องรับการรักษาและตรวจติดตามอย่างเคร่งครัด
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
โรคมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในรายที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อายุ 9 ถึง 26 ปี จะได้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสูงที่สุด สำหรับสตรีที่อายุมากกว่านี้ฉีดวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเช่นกัน โดยวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปีตั้งแต่ปี 2549 ขณะนี้ในบ้านเรามีให้เลือกใช้ 2 ชนิด 2 สายพันธุ์ Cervarix® และ 4 สายพันธุ์ Gardasil® และอนาคตจะมีชนิด 9 สายพันธุ์ Gardasil®      

ชนิด 2 สายพันธุ์ : สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม (เข็มที่ 1 ฉีดทันที หลังจากนั้น 1 เดือนค่อยฉีดเข็มที่ 2  และเข็มที่ 3 ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน)

ชนิด 4 สายพันธุ์ : สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์16 และ 18 และป้องกันหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 6 และ 11

ชนิด9 สายพันธุ์ : สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกทีเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 19, 18, 31, 33, 45, 52, 58 และป้องกันหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6, 11 

โดยวัคซีนโรคมะเร็งปากมดลูก มีความปลอดภัยสูงและไม่ค่อยมีผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยผลข้างเคียงที่พบซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ คือเกิดรอยอักเสบ บวมแดง คันบริเวณที่ฉีด หรืออานปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน แต่แล้วอาการเหล่านี้จะทุเลาลงและหายไป สำหรับผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 25-49 ปี จะได้รับคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี และผู้หญิงอายุ 50-64 ปี จะได้รับคำแนะนำในการตรวจคัดกรองทุก 5 ปี สำหรับผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะแนะนำให้ตรวจคัดกรองเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองเลยตั้งแต่อายุ 50 ปี หรือคัดกรองผู้มีผลครั้งก่อนพบว่ามีความผิดปกติ

อีกทางเลือกใหม่ในการรักษา โรคมะเร็งปากมดลูก คือ การจัดเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้าเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำประกันสุขภาพกับทางอีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์ประกันภัย เพราะการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้แต่อาจมีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง หากไม่มีงบประมาณเพียงพออาจทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการทำประกันสุขภาพเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยที่สุด โดยทางอีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์มีประกันสุขภาพหลายรูปแบบให้ได้เลือกสรรมากมาย และหากท่านสนใจในการทำประกันสุขภาพสามารถอ่านเงื่อนไขก่อนได้ที่ www.easyinsure.co.th ตลอด 24 ชั่วโมง โดยทีมงานอีซี่อินชัวร์ยินดีให้คำแนะนำในการทำประกันสุขภาพ โดยเสนอเงื่อนไขที่คุ้มครองให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลรามคำแหง , โรงพยาบาลศิริราช , โรงพยาบาลกรุงเทพ

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *