โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า คืออะไร อาการและสาเหตุ พร้อมวิธีรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับคนที่เป็นผู้ป่วย โรคซึมเศร้า นับเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เพราะคนที่ไม่เคยเป็นจะไม่รู้เลยว่าโรคซึมเศร้าอาการเป็นอย่างไร สาเหตุมาจากอะไร และวิธีรักษาอย่างไรให้หายขาด หรือไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าจะหายขาดได้ไหม เอาเป็นว่าวันนี้เรามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากันดีกว่า

โรคซึมเศร้า คืออะไร

โรคซึมเศร้า ทางการแพทย์เรียกว่า Clinical Depression เป็นความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่มีผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและสุขภาพกาย ที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรไตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ เศร้า หม่นหมอง เก็บเนื้อเก็บตัว หดหู่ โดดเดี่ยว เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยสนุกหรือสบายใจ

  • เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รู้สึกสิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า
  • เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่ผิดปกติไปจากความเป็นจริง รู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกหดหู่ หมดหวัง ไม่รื่นเริง จะมีอารมณ์ที่โศกเศร้าอยู่เป็นเวลานาน โดยโรคนี้จะมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจตลอดจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เป็นการป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ความคิด ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการรับประทานอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ ไม่สามารถประสานความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ได้เอง
  • เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ผิดหวัง รู้สึกเครียด อารมณ์เศร้าหมอง ความสูญเสีย ปัญหาอุปสรรคในชีวิต เป็นความรู้สึกที่คงอยู่เป็นระยะเวลานาน มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

อาการของโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้าและความรุนแรงที่จะเกิดกับผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน บางคนแสดงอาการเศร้า เบื่อ แสดงอาการไม่กี่อย่าง ขณะบางคนแสดงอาการที่รุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย แต่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงออกอาการใด ๆ เลย ทั้งนี้หากสงสัยว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ หากมีอย่างน้อย 5 อย่าง หรือมากกว่าติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน และมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

1. โรคซึมเศร้าส่งผลในด้านจิตใจและอารมณ์

  • มีอาการซึมเศร้า สำหรับเด็กหรือวัยรุ่น อาจมีอาการหงุดหงิดมากกว่า
  • ไม่มีสมาธิ หรือ ลังเลไปหมด ทำอะไรไม่สำเร็จ
  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี โทษตัวเอง
  • พูดช้า ทำอะไรช้าลง กระวนกระวาย ตัดสินใจช้าลง
  • เบื่อ หมดความสนใจ หรือ หมดความสุขในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตนไร้ค่า และมีความรู้สึกผิด
  • มีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง

2. โรคซึมเศร้าส่งผลในด้านร่างกาย

  • นอนไม่หลับ หรือ นอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือ หลับมากเกินไป
  • เบื่ออาหาร หรือ บางครั้งกลับกินมากเกินไป
  • เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรงจะทำอะไรเลย
  • ท้องผูก
  • เจ็บป่วยตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เคลื่อนไหวหรือพูดจาช้ากว่าปกติ

3. โรคซึมเศร้าส่งผลในด้านพฤติกรรม

  • ทำงานได้ไม่ดี หรือไม่มีประสิทธิภาพเหมือนก่อน
  • หมดความสนใจในกิจกรรม หรืองานอดิเรกที่เคยสนใจ
  • เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมน้อยลง
  • ไม่ออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน
  • อาจหันไปพึ่งสารเสพติด

โรคซึมเศร้ามีกี่ประเภท

โรคซึมเศร้ามีหลากหลายประเภท ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อารมณ์ที่หลากหลายของโรคซึมเศร้า ได้แก่

1. โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression)

โรคซึมเศร้าประเภทนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเศร้าสลดอย่างมาก จนไม่มีความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้กลับมามีความสุขเหมือนเดิม และจะมีความผิดปกติที่มีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ ดังนั้นควรเริ่มรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยไม่ให้โรคซึมเศร้าประเภทนี้มีความรุนแรง ทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอีก

2. โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าประเภทนี้ จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดเมเจอร์ ดีเพรสชั่น แต่เป็นอย่างต่อเนื่องนานกว่า คือ จะมีอาการอย่างน้อย 2 ปี หรือ นานกว่า 5 ปี แต่อาการจะไม่รุนแรงถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ เพราะผู้ป่วยจะมีอารมณ์ผิดปกติสลับไป

3. โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar Disorder)

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าประเภทนี้ จะมีอารมณ์ซึมเศร้าสลับกับอาการลิงโลด เป็นอารมณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยซึมเศร้าชนิดนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจและมักก่อให้เกิดปัญหา การใช้จ่ายสุรายสุร่าย หรือการตัดสินใจที่ผิด ๆ และบางครั้งอาจมีความคิดฆ่าตัวตายในช่วงที่มีอาการซึมเศร้าได้

โรคซึมเศร้ามีกี่ระดับ

1. อาการของโรคซึมเศร้าระยะแรก

จะแสดงอาการเบื่อ ท้อแท้ และเศร้าสลดอย่างมาก ซึ่งมีระยะเวลานานเกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุเกิดจาก มีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง การสูญเสีย ผิดหวัง ความเครียดสะสมยาวนาน อาจมีอาการทางจิต เช่น หูแว่ว หวาดระแวง กลัว ขี้บ่น จุกจิกมากขึ้น

2. อาการของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

มีอาการรุนแรงน้อยกว่า แต่เป็นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2 ปี มักนานกว่า 5 ปี สาเหตุเกิดจาก ทุกข์ใจมายาวนาน แม้จัดการได้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้ป่วยจะยังรู้สึกมีอาการที่ไม่มีความสุขมาเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายจึงจบที่การเป็นโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้า
สาเหตุของโรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย

ขอบคุณภาพจาก med.mahidol.ac.th

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุการเกิดที่ค่อนข้างซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งสาเหตุของโรคซึมเศร้าแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป เช่น พันธุกรรม หรือพื้นฐานที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีลักษณะนิสัยที่เป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก สภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ความผิดปกติในสมอง เช่น สารสื่อประสาท ฮอร์โมนและวงจรระบบประสาท สภาพจิตใจของแต่ละคนอันเนื่องมาจากการเลี้ยงดู เหตุการณ์ร้ายในชีวิต ส่งผลต่อกระบวนการคิดและมุมมองต่อตนเอง เช่นมองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวัง และยังรวมถึง การทำงานของสมอง พันธุกรรม บุคลิกภาพ อาการต่างๆ

1. โรคซึมเศร้าจากการทำงานของสมอง

จากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า เนื่องจากสารสื่อปะสารในสมองที่ไม่สมดุลกัน เป็นการเชื่อมต่อ การเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท และการทำงานของวงจรประสาทที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกเช่น ลักษณะนิสัย พันธุกรรม ความเครียด หรืออาการที่เจ็บป่วย หรือบุคลิกภาพ

2. โรคซึมเศร้าจากบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย

ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญและเสียงต่อภาวะซึมเศร้า คือลักษณะนิสัยเฉพาะตัว ซึ่งทัศนคติและมุมองต่อโลกจะส่งผลต่อความรู้สึกของเรา จึงเป็นไปได้ที่ผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ เกิดความวิตกกังวลง่าย ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบ อ่อนไหวต่อการวิจารณ์ หรือชอบตำหนิตัวเอง มีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่ายกว่า

3. โรคซึมเศร้าจากพันธุกรรม

พันธุกรรม มีหน้าที่คอยควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและสมอง ซึ่งอาจถ่ายทอดภาวะซึมเศร้าจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหนึ่งได้ การทำงานของพันธุกรรมที่ผิดแปลกทำให้ชีววิทยาในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปด้วย นำไปสู่ภาวะที่มาเสถียรทางอารมณ์ หรือ มีการพัฒนาไปเป็นภาวะซึมเศร้าได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้บอกว่าถ้ามีบรรพบุรุษเป็นโรคซึมเศร้าแล้วที่จะทำให้ลูกหลานเป็นไปด้วย ทั้งนี้ยังต้องขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย

4. โรคซึมเศร้าจากอาการเจ็บป่วย

ภาวะการณ์ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยจะมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำเกิน จนทำให้เหนื่อยล้าและเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจกว่าครึ่งกล่าวว่าตนเคยมีอาการซึมเศร้า โดยส่งผลให้ผู้ป่วยทำให้ฟื้นตัวช้า มีปัญหาหัวใจและหลอดเลือดได้ในอนาคต และมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน และยังมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ หลอดเลือดในสมองแตก เอสแอลอี มะเร็ง เบาหวาน ที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้

5. โรคซึมเศร้าจากเหตุการณ์ในชีวิต

คนเรามีชีวิตที่แตกต่างกัน ลักษณะความเป็นอยู่ก็ต่างกัน การเผชิญกับสิ่งแวดล้อม ปัญหา ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน เช่น การตกงาน การหย่าร้าง การสูญเสียในเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เกิดการกระทบทางด้านจิตใจ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากมีความเสี่ยงด้านพันธุกรรมที่เป็นตัวกำหนดลักษณะนิสัยในทางอ่อนไหวต่อสิ่งกระทบ ความเครียด ความสิ้นหวัง ที่จะพัฒนาไปสู่การมีภาวะซึมเศร้าได้

6. โรคซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่บางคนอาจต้องประสบหลังคลอดบุตร โดยมีอาการวิตกกังวล อ่อนเพลียมากจนไม่สามารถเลี้ยงลูกหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หากมีอาการรุนแรงชนิดที่เรียกว่า มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือลูกน้อย คนรอบข้างควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที ซึ่งสาเหตุของภาวะหรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮฮร์โมน อารมณ์ พันธุกรรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ทางจิตเวช เพื่อไม่ให้ไปถึงขั้นรุนแรงที่อาจทำให้คิดถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

7. โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดในผู้สูงอายุระหว่างอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีลักษณะที่ตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย อารมณ์ไม่แจ่มใส มีอาการหลอนทางจิต ความสามารถในการดำเนินชีวิตลดลง ซึ่งสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช ที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสารในสมองเป็นหลัก หรือสาเหตุจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางกาย จิต และสังคม ซึ่งโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุควรได้รับการรักษาด้วยแพทย์ทางจิตเวช รวมถึงลูกหลานควรใส่ใจ อย่าให้ท่านต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียว ดูแลและให้ความสำคัญกับท่านเสมอ หากิจกรรมให้ท่านทำ เพื่อท่านจะได้มีการใช้ความคิด ขยับเนื้อขยับตัว รวมถึง หมั่นชมท่านบ่อย ๆ เพื่อให้ท่านรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ เป็นเสาหลักให้กับลูกหลานได้

8. โรคซึมเศร้าเพราะครอบครัว

ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญ เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นสถาบันการขัดเกลาทางสังคม สร้างคุณค่าทางชีวิต ของคนในครอบครัว เป็นต้นแบบของลูก ๆ ได้เรียนรู้ในการดำรงชีวิตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคม แต่หากครอบครัวที่มีพ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก ปาข้าวของใส่กัน การทุบตี โต้ตอบกันอย่างรุนแรง หรือแม้แต่การตั้งกฎระเบียบในบ้านที่เคร่งครัดจนเกินไป ห้ามลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ การถูกบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้ลูก หรือคนในครอบครัวได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่รุนแรงและหากได้รับเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้

9. โรคซึมเศร้าเรียกร้องความสนใจ

โรคซึมเศร้าที่เรียกร้องความสนใจ เกิดจากการมีพฤติกรรมหรือเรียกร้องอะไรบางอย่าง ที่ทำให้คนเหล่านี้เข้าใจผิดว่าโรคเหล่านี้ไม่มีจริง เป็นเพียงข้ออ้างอันชอบธรรมในการกระทำพฤติกรรมแย่ ๆ หรือ ทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นเพียงเท่านั้น ซึ่งความจริงคนเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าก็ได้ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งที่โรคซึมเศร้าถูกนำไปผูกติดกับพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง จนทำให้คนที่แสดงออกถึงพฤติกรรมเหล่านั้นได้รับการตราหน้าว่าเป็นผู้ป่วย หรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเองป่วยโดยไม่ได้รับการตรวจจากจิตแพทย์

วิธีรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ เพื่อให้อาการบรรเทาลงจนหายดีในที่สุด ซึ่งการรักษานั้นมีหลากหลายวิธี เช่นการทานยา การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต การให้ความร่วมมือกับนักจิตบำบัดในการรักษา

1. วิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วยตนเอง

นอกจากการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์หรือการพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรที่จะเรียนรู้และฝึกรับมือกับโรคซึมเศร้าด้วยตนเองได้อีกด้วย โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนะนำดังนี้

  • ดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้แข็งแรง ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
  • เรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด โดยรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น การหางานอดิเรกทำ การนั่งสมาธิ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การเล่นโยคะ รำไทเก็ก เป็นต้น
  • บริหารเวลาในแต่ละวันให้เหมาะสม โดยวางแผนสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเอย่างเป็นระเบียบ ควรเรียนรู้ที่จะปฏิเสธภาระหรือความรับผิดชอบที่เกินกำลัง
  • หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ขณะที่กำลังเผชิญภาวะตกต่ำทางอารมณ์
  • อย่าแยกตัวออกจากสังคม พยายามหากิจกรรมทำกับครอบครัว เพื่อนฝูง ร่วมกลุ่มบำบัดโรคซึมเศร้าเพื่อแบ่งปันเรื่องราวความรู้สึกซึ่งกันและกัน
  • หมั่นพูดคุยปรึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่กับครอบครัว เพื่อนสนิท ญาติสนิท เป็นต้น

2. วิธีรักษาโรคซึมเศร้าโดยการหาหมอ

ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้ามีด้วยกัน 3 วิธีหลัก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ว่าผู้ป่วยเหมาะกับวิธีใด และใช้การรักษาควบคู่กันไปมากกว่าหนึ่งวิธีก็เป็นได้

2.1 การใช้ยาต้านเศร้า Antidepressants

ช่วยในการปรับสมดุลสารเคมีในสมองในเรื่องของการควบคุมอารมณ์และความเครียด ซึ่งยาต้านเศร้ามีหลายชนิด แพทย์จะให้ยาต้านเศร้าตามอาการของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อการรักษาที่ดีและปลอดภัยที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด แพทย์จะเริ่มด้วยการสั่งจ่ายยากลุ่ม SSRIs ซึ่งปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาต้านซึมเศร้าชนิดอื่น ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs ได้แก่ ฟลูออกวิทีน Fluoxetine พาร๊อกซีทีน Paroxetine เอสไซตาโลแพรม Escitalopram

ทั้งนี้การให้ยาให้ได้ผลอาจใช้เวลานานประมาณ 3-4 สัปดาห์ และไม่ควรหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น และยาอาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายใน 2-3 สัปดาห์แรกที่ได้รับยา ซึ่งผู้ป่วยที่อายุน้อยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยและจะสั่งให้หยุดยาหรือไม่นั้น ต้องดูผลการตอบรับจากผู้ป่วยอีกครั้ง

2.2 จิตบำบัด Psychotherapy

คือการทำจิตบำบัดที่เรียกได้ว่าได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าน้อยถึงปานกลาง ซึ่งสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปเช่น

  • บำบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล Interpersonal Therapy : IPT เพื่อการมุ่งไปที่การบำบัดความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับบุคคลอื่น ที่อาจเป็นเหตุของอาการซึมเศร้าได้ เช่นการสื่อสารที่มีปัญหา
  • บำบัดเพื่อช่วยปรับทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิสัมพันธ์ Cognitive Behavioral Therapy : CBT เพื่อให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดในแง่ลบไปในทางที่ดีขึ้น เริ่มจากการมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในแง่ดี ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักถึงสิ่งที่ทำให้คนเกิดภาวะซึมเศร้าแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมให้เลิกเศร้าได้
  • การช่วยให้สามารถจัดการกับภาวะความตึงเครียดในชีวิต Problem-Solving Therapy : PST เป็นวิธีบำบัดที่ใช้ได้ผลกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า ให้ผู้ป่วยมองเห็นปัญหาและทางแก้อย่างตรงตามความเป็นจริง
  • การให้คำปรึกษา Counselling บำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยคิดทบทวนถึงปัญหาในชีวิตที่ได้พบเจอ และหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหา โดยมีผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้คอยสนับสนุนในการหาทางแก้ไข แต่ไม่ใช่การบอกให้ทำ

2.3 การรักษาด้วยการกระตุ้นเซลล์สมอง Brain Stimulation Therapies

สำหรับการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าในระดับที่รุนแรงขึ้น เช่นผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตาย ไม่สามารถรักษาโดยรอจนกว่ายาต้านซึมเศร้าจะออกฤทธิ์ได้ การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองและเส้นประสาทจึงกลายเป็นวิธีที่ปลอดภัยได้ผลที่สุด

  • การบำบัดช็อคด้วยไฟฟ้า Electroconvulsive Therapy : ECT คือการรักษาด้วยการให้ยาสลบแล้วใช้กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าสู่สมองผู้ป่วย ทางการแพทย์เชื่อว่ากระแสไฟฟ้าจะส่งผลต่อการทำงานและการเกิดสารนิวโรทรานสมิทเทอรส์ในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้ารุนแรงได้ผ่อนคลายลงได้ทันที ทั้งนี้การบำบัดด้วยการช็อคไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการปวดศีรษะ หรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราว
  • การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Transcranial Magnetic Stimulation : TMS อีกหนึ่งวิธีใหม่ เป็นการใช้ขดลวดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าวางบนศีรษะผู้ป่วย ส่งพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนไปกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ควบคุมอารมณ์ปกติและเศร้า

3. ยารักษาโรคซึมเศร้า

เป็นยาในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors : SSRI ยานี้มีผลต่อสารเคมีในสมองใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคกลัว วิตกกังวล โรคยั้งคิดยั้งทำ

  • ยา Fluoxetine ใช้รักษาโรคซึมเศร้า Depression รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-compulsive Disorder และรักษาโรคหวาดกลัว Panic Attack
  • ยากลุ่มต้านเศร้า Antidepressants ยากลุ่มนี้มีหลากหลายชนิด พบอาการข้างเคียงลดลงและมีจำนวนผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาเพิ่มมากขึ้น
  • ยากลุ่มอื่น ๆ Other Medications ยากลุ่มที่นำมาใช่ร่วมเพื่อการรักษาภาวะซึมเศร้าในบางราย เช่นยากลุ่มคลายกังวล ยากลุ่มสมาธิ ยากลุ่มควบคุมอารมณ์

โรคซึมเศร้ารักษาที่ไหน

การรักษาสามารถรักษาโดยเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านเพื่อสะดวกในการเดินทาง เพราะการรักษาต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

  • โรงพยาบาลรัฐบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • สถาบันประสาทวิทยา
  • สถาบันธัญญารักษ์
  • สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
  • สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
  • สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
  • คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

โรคซึมเศร้ารักษาหายไหม

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถรักษาให้หายได้ เพราะการรักษาโรคซึมเศร้าที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ เพื่ออาการบรรเทาจนดีขึ้นและหายไปในที่สุด โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต พฤติกรรมต่าง ๆ และให้ความร่วมมือกับนักจิตบำบัดในการรักษา ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ และนักจิตบำบัดทุกประการ และมีจิตใจพร้อมที่จะทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะการรักษาค่อนข้างใช้เวลาในการรักษานานพอสมควร ผู้ป่วยต้องมีความอดทน รวมถึงกำลังใจจากครอบครัวก็มีส่วนสำคัญมากในการให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอ

วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ก่อนอื่นผู้ที่จะมาดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าอย่างละเอียดเสียก่อน และ ต้องมีความอดทนต่อสภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยได้ เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยที่ใช้ความรุนแรงในการโต้ตอบ สิ่งเหล่านี้ผู้ที่จะมาดูแลต้องทำความเข้าใจและมีความอดทนอย่างสูง สำหรับวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีดังนี้

  • เข้าหาและแสดงความยินดีที่จะช่วยเหลือ พร้อมรับฟังปัญหาต่าง ๆ อย่างตั้งใจและเข้าใจ
  • ทำความเข้าใจและหาความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น
  • อาการจะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ แต่ต้องดูแลให้ได้รับยาครบตามที่แพทย์สั่ง ด้วยความอดทน
  • ดูแลให้ได้กินและนอนเป็นเวลาทุกวัน
  • พาไปพบจิตแพทย์ และไปเป็นเพื่อนเสมอเมื่อถึงวันที่ต้องพบคุณหมอ
  • ชวนออกกำลังกาย หรือชวนไปร่วมกิจกรรมในชุมชน
  • หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง คุณต้องอย่างปล่อยให้อยู่คนเดียว แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
  • เก็บสิ่งของที่เป็นอันตรายไม่ให้วางในบ้าน เช่น มีด เชือก อาวุธปืน ยาฆ่าแมลง ยาศัตรูพืช

สัญลักษณ์โรคซึมเศร้า

สัญลักษณ์โรคซึมเศร้า
สัญลักษณ์โรคซึมเศร้า สัญลักษณ์หมาดำ (BlackDog)

มีการใช้ หมาดำ เป็นสัญลักษณ์แทนโรคซึมเศร้ากันมานานมาก ไม่แน่ชัดว่าเริ่มจากไหน บ้างก็บอกว่าจากสงครามโลกครั้งที่สอง นายกของอังกฤษ วินส์ตัน เชอร์ชิล ที่เคยใช้คำเปรียบเปรยภาวะซึมเศร้าของตัวเองกับหมาดำ และในปัจจุบันคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บางคนก็ใช้สัญลักษณ์นี้ในการสื่อให้คนรอบข้างรับรู้ว่าเขากำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ ดังตัวอย่างจากนักร้องเกาหลีจงฮยอนที่เสียชีวิตเพราะเป็นโรคซึมเศร้า และเขาก็มีรอยสักที่แสดงสัญลักษณ์เป็นหมาดำไว้บนร่างกายของเขา

โรคซึมเศร้าประกันสังคมคุ้มครองไหม

ใครที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็จะไม่เศร้าอีกต่อไปเพราะผู้ป่วยจะได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หากมีสิทธิรักษาพยาบาล บัตรทอง บัตรประกันสังคม ข้าราชการ คุ้มครองการรักษาทั้งหมด หากได้รับคำวินิจฉัยจากจิตแพทย์ โดยสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยารักษาโรคซึมเศร้ามีจำนวน 8 รายการ โดยสามารถขอคำแนะนำเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่สายด่วน สปสช.1330

โรคซึมเศร้าทำประกันได้ไหม

โรคซึมเศร้าหรือเรียกได้ว่าเป็นโรคทางจิตเวช ส่วนใหญ่บริษัทประกันจะไม่รับในการเคลมประกัน หรือเรียกได้ว่าจะไม่รับทำประกันทุกกรณี แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำประกันได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนประกันแต่ละแผนด้วย ซึ่งแผนประกันที่คุ้มครองผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็มีอยู่ด้วยเช่นกันแต่จะมีราคาที่สูงอยู่มาก เนื่องจากภาวะโรคซึมเศร้าต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนาน ต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง คุณหมอจะทำการนัดหมายในการรักษา ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาเป็นปี ๆ

คุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

ให้สังเกตจากอาการหลักต่าง ๆ เหล่านี้ หากคุณมีอาการเหล่านี้และเป็นเวลานานกว่า 14 วัน คุณเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

  1. อารมณ์เศร้า เบื่อ ท้อแท้ ซึม หงอยเหงา
  2. ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่เคยทำ
  3. เบื่ออาหารหรือ เจริญอาหารมากเกินไป
  4. นอนไม่หลับเลย หรือ นอนมากเกินไป
  5. กระวนกระวายมากผิดปกติ
  6. เชื่องช้ามากผิดปกติ
  7. รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ ใจลอย
  8. ตำหนิตัวเอง หรือทำร้ายตัวเอง
  9. คิดอยากฆ่าตัวตาย

แบบสอบถามโรคซึมเศร้าออนไลน์

ปัจจุบันมี แบบสอบถามโรคซึมเศร้าออนไลน์ ให้ท่านได้ตรวจสอบอาการของคนเองว่าจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า โดยให้เราใส่คะแนนให้ตรงกับคำตอบของเรา โดยคะแนนได้กำหนดไว้ดังนี้

0 = ไม่เลย
1 = มีบางวันหรือไม่บ่อย
2 = มีค่อนข้างบ่อย
3 = มีเกือบทุกวัน

โดยมีคำถามทั้งหมด 9 ข้อ แต่เราจะมาแนะนำคร่าว ๆ ดังนี้

1.เบื่อ ทำอะไร ๆ ก็ไม่เพลิดเพลิน
2.ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้
3.หลับยาก หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือ หลับมากไป

ท่านสามารถคลิกทำแบบสอบถาม โรคซึมเศร้า ออนไลน์ได้ที่ https://med.mahidol.ac.th/th/depression_risk

เมื่อทำเสร็จพร้อมส่งคำตอบไป ระบบจะทำการวิเคราะห์และแจ้งผลให้ท่านทราบทันที เมื่อได้คำตอบแล้ว จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้งจากแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงส่งตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน รวมถึงเพื่อแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็นจากสาเหตุต่าง ๆ ได้มากมาย

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *