โรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด สาเหตุเกิดจากอะไร แล้วมีอาการอย่างไร

เรียกได้ว่ามะเร็งที่พบได้มากที่สุดในโลกและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง คือ โรคมะเร็งปอด ที่มีอัตราส่วนการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยในระดับที่สูงมากพอสมควร ซึ่งมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในเพศชาย และอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยแตกต่างกันไปขึ้นกับระยะของโรค สุขภาพโดยรวมและปัจจัยอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ต้องขอบอกเลยว่า โรคมะเร็งปอด ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และเป็นมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงในการรักษาเช่นกัน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคมะเร็งปอด สาเหตุ อาการ การป้องกัน อย่างละเอียดกัน

โรคมะเร็งปอด คืออะไร

โรคมะเร็งปอด คือ โรคที่เกิดจากการเซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปอดที่มีความผิดปกติ เจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติย่างรวดเร็ว โดยไม่สามารถควบคุมได้ เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยโรคมะเร็งปอดเริ่มต้นจากเนื้อเยื่อภายในปอดเอง Primary Lung Cancer เพราะมะเร็งปอดที่ตรวจพบมี 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก Non-small Cell Lung Cancer ซึ่งพบอัตราการเกิดได้ถึง 80-85% และ ชนิดที่สองคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก Small Cell Lung Cancer พบได้ 10-15% และมีแนวโน้มในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

สาเหตุโรคมะเร็งปอด

1. โรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่

พบว่าโรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่มากถึง 85% เนื่องจากในตัวบุหรี่มีสารที่ประกอบได้ด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายและมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิดที่พัฒนาไปสู่โรคมะเร็งปอดได้ รวมถึงมะเร็งในช่องปาก หรือ มะเร็งหลอดอาหาร รวมถึงการสูบยาสูบประเภท ยานัด ยาเส้น กัญชาผสมบุหรี่ ซิการ์ ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอด ได้มากขึ้น

เมื่อสารมะเร็งเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ก็จะไปทำลายเนื้อเยื่อภายในปิดทันที ทั้ง ๆ ที่ปกติร่างกายจะซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ แต่หากมีการสูดดมเข้าไปมากขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดความเสียหายกับเซลล์มากขึ้น จนร่างกายซ่อมแซมไม่ทันนั้นเอง จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงไปเซลล์ที่ผิดปติที่กลายเป็นโรคมะเร็งปอดได้

2. โรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูดดมควันบุหรี่

สาเหตุต่อมาคือ การสูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้าง ถึงแม้ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้างที่สูบ ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ไม่แพ้กับการสูบบุหรี่โดยตรง เพราะสามารถรับสารพิษสารก่อมะเร็งด้วยวิธีการเดียวกัน โดยพบว่าผู้ที่อาศัยร่วมกับผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ถึง 20-30% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่

3. โรคมะเร็งปอดเกิดจากก๊าซเรดอน

จากสารกัมมันตรังสีที่อยู่ทั่วไป อาจมาจากดิน หิน หรือตามอาคารบางแห่ง โดยหากสูดดมเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไปมาก ๆ อาจส่งผลให้ปอดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

4. โรคมะเร็งปอดเกิดจากปอดติดเชื้อ

หากปอดถูกทำลายจากโรคต่าง ๆ ในส่วนของเนื้อเยื่อปอดที่มีการติดเชื้อ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในเนื้อเยื่อปอดได้ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

5. โรคมะเร็งปอดเกิดจากสารพิษและมลภาวะ

ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสารเคมี หรืออยู่ในภาคอุตสาหกรรม มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีในแต่ละวันโดยไม่รู้ตัวและก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้สูงขึ้น ตัวอย่างสารเหล่านี้เช่น สารหนู ถ่านหิน แร่ใยหิน แคดเมียม ถ่านโค้ก ซิลิกา นิกเกิล หรือจากการได้รับควันเสียจากยานพาหนะปริมาณมาก ๆ ก็เพิ่มความเสี่ยงเป็น 50% พบว่าผู้ที่อาศัยในเขตที่มีกาซไนโตรเจนออกไซต์ที่ผลิตจากรถยนต์หรือพาหนะอื่นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ถึงสามเท่า

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอด

  1. การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า
  2. อายุที่สูงขึ้น ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป แต่ก็พบได้ในคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีเช่นกัน
  3. การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซเรดอน สารหนู นิกเกิล โครเมียม
  4. การรักษาด้วยการฉายแสงที่ทรวงอก เช่น ผู้ป่วยโรค Hodgkin Lymphoma หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม
  5. บุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด เช่น เครือญาติ หรือคู่สมรส

โรคมะเร็งปอดมีกี่ประเภท

โรคมะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก Small cell lung cancer และ ชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก Non-small cell lung cancer เราจะพบชนิดเซลล์ขนาดเล็กประมาณ 15-20% ซึ่งมะเร็งพวกนี้แพร่ไปเร็ว แม้ว่าเมื่อแรกพบมะเร็งจะยังมีก้อนเล็ก แต่ก็มักแพร่กระจายไป การรักษามะเร็งชนิดนี้จึงมักเป็นการักษาทางยา และเราจะพบมะเร็งปอดในกลุ่มเซลล์ที่ขนาดไม่เล็กถึง 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด ซึ่งชนิดนี้การพยากรณ์โรคดีกว่าและมีชีวิตอยู่ได้นานกว่ากลุ่มมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็กมาก และกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกเป็นชนิดต่าง ๆ อีกหลายชนิด เช่น

  1. เซลล์ชนิด Squamous Cell Carcinoma ประมาณ 40-45% ซึ่งมะเร็งพวกนี้สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่มาก ซึ่งมักพบในปอดส่วนกลางใกล้ ๆ ขั้วปอด
  2. เซลล์ชนิด Adenocarcinoma ประมาณ 25-30% มักพบในปอดส่วนนอก และ อาจพบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่ หรืออาจเกิดจากแผลเป็นในปอด เช่น แผลเป็นวัณโรค แผลเป็นจากปอดบวม
  3. เซลล์ชนิด Large Cell Undiferentiated Cancer ประมาณ 5-10% เป็น Bronchioloalveolar Carcinoma น้อยกว่า 5%
  4. เซลล์ชนิดอื่น ๆ น้อยกว่า 5% มะเร็งของเยื่อหุ้มปอด หรือ Mesothilioma พบได้ในพวกทำงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ที่เกี่ยวกับผง Abestos

การตรวจโรคมะเร็งปอดเบื้องต้นและการวินิจฉัย

การตรวจพบในระยะแรก ๆ มีโอกาสที่โรคมะเร็งจะรักษาให้หายขาดได้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการแล้วมักจะสายไปจึงมีโอกาสรักษาหายขาดน้อยมาก มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ที่จะมาหาแพทย์ตอนที่ยังไม่มีอาการ ซึ่งส่วนมากจะเจอโดยบังเอิญจากการฉายเอกซเรย์ปอดแล้วพบว่ามีก้อนในปอด เนื่องจากอัตราการตายของมะเร็งปอดมีสูงขึ้น จึงมีผู้พยายามที่จะหาวิธีที่จะวินิจฉัยโรคในระยะแรก ซึ่งการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดทำได้โดยการ

1. การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)

ซึ่งนิยมใช้เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดเบื้องต้น หากพบเนื้องอกในปอดจะแสดงเป็นโทนสีขาว เทา ให้เห็นถึงสภาพปอดของผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้ไม่สามารถแยกความชัดเจนระหว่างก้อนเนื้อมะเร็งหรือสภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกิดกับปอดได้

2. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีทีสแกน (CT-scan)

วิธีการตรวจหาความผิดปกติสำหรับอวัยวะภายใน โดยใช้รังสีเอกซ์ก่อนที่จะสร้างออกมาเป็นภาพด้วยเครื่องมือพิเศษ เพื่อที่แพทย์สามารถเห็นเนื้อปอดได้ชัดเจน ก่อนการทำซีทีสแกน แพทย์อาจจะฉีดสารทึบแสงให้แก่ผู้ป่วย สารทึบแสงนี้จะทำให้สามารถตรวจพบสิ่งผิดปกติภายในปอดได้ชัดยิ่งขึ้น

3. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพทซีทีสแกน (Positron Emission Tomography-Computerised Tomography)

แพทย์จะทำการตรวจภายหลังจากพบสิ่งปกติที่คาดว่าน่าจะเป็นมะเร็งแล้วจากการตรวจซีทีสแกน โดยจะช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็ง ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ในขั้นใด ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะฉีดสารกัมมันตรังสีให้แก่ผู้ป่วยก่อนผ่านเข้าเครื่องตรวจ

4. การส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อ (Bronchoscopy และ Biopsy)

หากพบสิ่งผิดปกติที่คาดว่าจะเป็นมะเร็งปอด แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการส่องกล้องตรวจภายในหลอดลมโดยใช้ท่อขนาดเล็กสอดลงไปในหลอดลม เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหลอดลม และตัดชิ้นเนื้อออกไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ หรือแพทย์อาจพิจารณาวิธีอื่นในการใช้ในการวินิจฉัยโรค เช่น การเจาะตัดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก, การผ่าตัดปอดโดยใช้กล้องส่อง หรือ การส่องกล้องในช่วงอก

5. การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging)

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) คือ การตรวจโรคมะเร็งโดยใช้เครื่องตรวจที่มีการใช้คลื่นสนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่วิทยุ เพื่อสร้างภาพเสมือนจริงของอวัยวะในส่วนต่างๆ ซึ่งจะแสดงเป็นภาพตามระนาบได้ทั้งแนวขวาง แนวยาว แนวเฉียง ในรูปแบบ 3 มิติ

6. การทดสอบการทำงานของปอด (Spirometry)

เป็นการตรวจสอบว่าปอดทำงานได้ดีเพียงใดก่อนทำการรักษา โดยการวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและหายใจออก เครื่องมือที่ใช้มีชื่อว่า Sprirometer เป็นวิธีที่คุณหมอทำบ่อยสุด เพราะง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งข้อมูลสามารถเชื่อถือได้ ไม่มีความซับซ้อน แสดงออกในรูปแบบกราฟที่มีความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตร มีชื่อเรียกว่า Sprirogram

7. การตรวจระดับโมเลกุล และ ยีนของมะเร็งปอด (Gene Testing)

เพื่อบอกแนวโน้มการพยากรณ์โรค และใช้วางแผนการรักษาที่เหมาะสม

การคัดกรองโรคมะเร็งปอด

การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ปอดด้วยรังสีขนาดต่ำ Low-dose CT เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดประจำปี โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่

  1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี และ สูบบุหรี่จัด เช่นสูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันมานาน 30 ปีขึ้นไป และยังไม่หยุด หรือ หยุดไม่เกิน 5 ปี
  2. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และ สูบบุหรี่จัด น้อยกว่า เช่น สูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันมานาน 20 ปีขึ้นไปและมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น อายุมาก น้ำหนักตัวน้อย มีอาการโรคถุงลมโป่งพอง และจำนวนการสูบบุหรี่ต่อวัน
  3. ผู้ทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ การสัมผัสกับแร่ใยหิน เรดอน สารจาการประกอบอาชีพเช่น ยูเรเนียมโครเมียม นิกเกิล ควันเขม่า น้ำมันดีเซล
  4. ผู้ป่วยมีประวัติโรคปอดเรื้อรัง เช่น ปอดเป็นพังผืด หรือ ถุงลมโป่งพอง

อาการโรคมะเร็งปอด

อาการของโรคมะเร็งปอด โดยมะเร็งปอดส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรค เมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น สามารถสังเกตได้จาก

  1. อาการทางปอด ได้แก่ มีไข้ ไอ ไอมีเสมหะ ไอเป็นเลือด เหนื่อย เจ็บหน้าอก
  2. อาการจากมะเร็ง ได้แก่ เพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  3. อาการจากการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ได้แก่ ไปบริเวณต่อมน้ำเหลือง โดยจะมีต่อมน้ำเหลืองโต อาจอุดหลอดเลือดที่พบบ่อยคือ อุดหลอดเลือดดำที่คอทำให้เลือดคั่งบวมที่หน้า หรืออาจร่วมกับอาการอื่นไปที่เยื่อหุ้มปอด ทำให้มีน้ำในช่องเยื่อบุหุ้มปอดได้ หรือ ไปที่สมอง อาจมีอาการปวดหัว ชัก อัมพาต หมดสติ มีการปวดกระดูก มีตัวเหลือง ตาเหลือง
  4. อาการที่เรียกว่า Paraneoplastic Syndrome โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนที่ทำให้เกิดอาการ มีไข้หนาวสั่น ข้อบวม ปวดข้อ ระดับฮอร์โมนบางตัวในเลือดสูง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปถ้าเราตัดก้อนมะเร็งออกไป ถ้าโรคกลับมาอาการก็จะกลับมาได้อีก

1. อาการโรคมะเร็งปอดมีกี่ระดับ

อาการโรคมะเร็งปอดในแต่ละระยะ สามารถการตรวจวินิจฉัยด้วยรังสีโดยโรคมะเร็งปอดสามารถแบ่งความรุนแรงของโรคออกได้เป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่พบว่ามีก้อนบางอย่างอยู่ในปอด แต่มักจะไม่มีอาการความผิดปกติของร่างกายออกมาให้เห็น
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองทั้งปอด
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่พบว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองและในช่องอก การรักษาใช้วิธีการผ่าตัดหรือฉายรังสี เพื่อให้เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กลง และหากทำได้จึงค่อยผ่าตัดออกจากร่างกาย
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้กระจายตัวไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ตับ สมอง และต่อมหมวกไต เป็นต้น

ในปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งปอดในระยะที่ 4 มีโอกาสที่จะรักษาอาการของโรคได้ตรงจุดมาขึ้น สามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งปอดได้อย่างดี สามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อวิเคราะห์ความรุนแรงของโรคและสาเหตุได้ ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 มีวิธีการเคมีบำบัด Chemotherapy ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีโปรตีนบางชนิดทำงานผิดปกติบนผิวของมะเร็ง รวมถึงการรักษาแบบมุ่งเป้า Targeted Therapies หากแพทย์ตรวจพบว่าชิ้นเนื้อร้ายมีสาเหตุมาจากยีนกลายพันธุ์

2. อาการโรคมะเร็งปอดระยะลุกลาม

อาการมะเร็งปอดระยะสุดท้ายอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของก้อนมะเร็งภายในปอด ทั้งเซลล์มะเร็งจะกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาการทางปอดที่พบได้บ่อยคือ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หายใจไม่อิ่ม หายใจหอบ ก้อนมะเร็งยังอาจไปกดทับเส้นประสาทในทรวงอกจนทำให้มีเสียงที่แหบได้ นานเข้าเมื่อมะเร็งปอดกระจายมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดเอง และเบื่ออาหารได้ เมื่อมะเร็งปอดกระจายไปยังสมองอาจำให้ปวดหัว พูดไม่ชัด ความจำเสื่อม และหากกระจายไปยังตับ ก็จะทำให้ปวดท้องและตัวเหลือง ตาเหลือง หรือถ้ามะเร็งปอดกระจายไปยังกระดูกก็ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ซี่โครงได้

การรักษาโรคมะเร็งปอด

การรักษาโรคมะเร็งปอด ขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็งปอด และระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. การรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (NSCLC)

การรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก NSCLC ประกอบด้วย 4 วิธีได้แก่

  1. รักษาโรคมะเร็งปอดโดยการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาโรคเป็นหลัก โดยไม่ต้องมีการรักษาอื่นเสริม แต่ในระยะโรคที่เป็นมากขึ้น อาจต้องใช้การรักษาที่ผสมผสานหลายวิธีมากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์แต่ละสาขาร่วมกัน
  2. รักษาโรคมะเร็งปอดโดยการฉายรังสี การใช้รังสีพลังงานสูงในการรักษาโดยเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เพื่อไม่ให้แบ่งตัวเจริญเติบโตต่อไปอีก และถูกกำจัดภายในร่างกายด้วยระบบการทำงานของร่างกายปกตินั้น เป็นวิธีทีได้ผลดีและไม่เจ็บปวดมาก
  3. รักษาโรคมะเร็งปอดด้วยเคมีบำบัด หรือคีโม (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาในหลายรูปแบบ โดยอาจจะใช้รักษาก่อนการผ่าตัดเพื่อช่วยการทำลายเซลล์มะเร็งได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกในช่วงเวลาหนึ่ง ในบางรายการทำเคมีบำบัดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออาการอื่นของมะเร็งในระยะแพร่กระจายได้
  4. รักษาโรคมะเร็งปอดโดยการใช้ยา ประกอบด้วยยาเคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า
    • การรักษาแบบใช้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการรักษาแบบใช้ยารักษามะเร็งกลุ่มใหม่ที่มุ่งทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายของยา
    • การรักษาแบบใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาแบบใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถจดจำ และทำลายเซลล์มะเร็งได้ด้วยภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่งใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็กบางกลุ่มอย่างได้ผลดี แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ว่ายังไม่สามารถให้ผลที่ดีกับผู้ป่วยทุกรายไป โดยในการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองพิเศษเพื่อดูแนวโน้มของมะเร็งปอดเฉพาะในบุคคลนั้นว่าจะมีโอกาสใช้ได้ผลหรือไม่

2. รักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC)

สำหรับการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กนี้ หลักสำคัญเลยคือการให้ยาเคมีบำบัด และการรักษาด้วยรังสี รักษาที่ใช้ในการรักษามะเร็งชนิดนี้ระยะ 1 2 3 ได้

  1. รักษาโรคมะเร็งปอดโดยการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (LDCT) เป็นวิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าการเอ็กซเรย์ธรรมดา เพื่อช่วยให้การรักษามีความชัดเจนด้วยการตรวจพบความผิดปกติได้มากกว่า สามารถใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจยังน้อยกว่าการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไปอีก โดยการรักษาวิธีนี้ช่วยให้การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ช่วยให้แพทย์ตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้ เพราะจุดในปอดอาจจะเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยวิธีเอ็กซเรย์ปอดธรรมดา
  2. รักษาโรคมะเร็งปอดโดยการจี้ด้วยความเย็น (Cryosurgery) การรักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น Cryosurgery เป็นการใช้อุปกรณ์จี้ด้วยความเย็นเพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
  3. รักษาโรคมะเร็งปอดโดยการจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) การรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า Electrocautery เป็นการใช้โพรบ Probe หรือเข็มร้อนที่ส่งผ่านด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อทำลายเนื้อเยื้อที่ผิดปกติ

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งปอด

1. ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งปอดที่พบบ่อย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาโรคมะเร็งปอด อาการข้างเคียงทั่วไปที่พบได้บ่อยจากการรักษาโรคมะเร็งปอดได้แก่

  1. อาการท้องเสีย เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย จากการใช้ยารักษาที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR บางครั้งอาจมีอาการรุนแรงจนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมาก และปัญหาต่อการทำงานของไต ทำให้มีอาการไตวายเฉียบพลันได้
  2. อาการทางผิวหนัง ยาต้าน EGFR ทำให้เกิดผื่นแดง ผื่นคล้ายสิวได้ หากมีอาการทางผิวหนัง จะต้องได้รับการรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง หากมีอาการรุนแรง เช่นผิวหนังลอกหรือพุพองมาก ผู้ป่วยจะต้องหยุดรับประทานยาต้าน EGFR นี้ และพบแพทย์ทันที
  3. อาการเจ็บปาก ในช่วงระหว่างการรับประทานยาต้าน EGFR ว่ามีเหงือกอักเสบ หรือมีเลือดออกหรือไม่ มีแผลบริเวณริมฝีปากลิ้นภายในช่องปาก เพดานปากด้านบนด้านล่างหรือไม่
  4. อาการผิวหนังรอบ ๆ เล็บมือ เล็บเท้า หรือจมูกเล็บ บวม แดงหรือไม่
  5. อาการความอยากอาหารลดลง ตัวยาต้าน EGFR มีผลข้างเคียงที่ทำให้ความอยากอาหารลดลง โดยอาจมีอาการเจ็บปากด้วยจึงทำให้มีความอยากอาหารลดลง

2. ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งปอดที่พบได้น้อย

  1. ความผิดปกติที่ปอด และการหายใจที่เกิดภาวะปอดอักเสบขึ้น หากพบว่ามีอาการหายใจลำบาก หรือหายใจติดขัด รู้สึก เหนื่อยมากอย่างเฉียบพลัน ไอมากผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  2. ความผิดปกติที่ตับ เกิดภาวะตับอักเสบ หากพบว่ามีอาการผิวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มข้น อาการปวดบริเวณด้านบนซีกขวาของช่องท้อง มีจ้ำเลือดหรือเลือดออกง่ายผิดปกติ รู้สึกเพลีย ให้รีบพบแพทย์ทันที
  3. ความผิดปกติที่ตา หากพบว่ามีอาการปวด บวม แดง น้ำตาไหล ภาวะตาอักเสบ ตาพร่ามาก เคืองตา ตาไวต่อแสง การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกันโรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งเป็นแล้วรักษายาก บางรายรักษาหาย บางรายไม่หาย การป้องกันโรคมะเร็งมิไม่ให้เกิดกับท่านเป็นวิธีการที่ดีที่สุด สำหรับการป้องกันมะเร็งปอดมีดังนี้

  1. ลดการสูบบุหรี่ หรือ ไม่สูบบุหรี่เลย เพราะการสูบบุหรี่จะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก คอ กล่องเสียง ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก และ ไต ซึ่งการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดมะเร็งได้หลายระบบ การเลิกสูบบุหรี่จะทำให้ลดการเกิดมะเร็งได้ร้อยละ 30
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเขตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ก๊าซเรดอน มลพิษต่าง ๆ

ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร ?

ผู้ป่วยจะมีระยะเวลาอยู่ได้นานเท่าไร ขึ้นกับเวลาที่ตรวจพบและเริ่มรักษาว่ามะเร็งนั้นอยู่ในระยะไหน ความสำคัญในการพยากรณ์โรคมะเร็งปอด การแบ่งระยะของมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก ส่วนมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็กแบ่งระยะของโรคมีความสำคัญน้อยกว่า เพราะโรคมะเร็งแพร่ได้เร็วและผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ระยะสั้นหลังเป็นโรค เราแบ่งระยะของโรคมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็กแบ่งออกเป็น 2 ระยะเท่านั้นคือ

  1. ระยะโรคจำกัดที่ Limited Stage หมายถึง มะเร็งที่อยู่ในปอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองก็จะไปที่ทรวงอกด้านเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ 2 ปีราว ๆ 20%
  2. ระยะโรคกระจาย Extensive Stage หมายถึง โรคกระจายไปยังปอดด้านตรงข้ามเรียบร้อยแล้ว รวมถึงกระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งผู้ป่วยชนิดนี้จะอยู่ได้ 2 ปีประมาณ 5%

การป้องกันที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือ การดูแลสุขภาพปอดของตนเองให้ห่างจากสาเหตุที่ทำให้เกิด โรคมะเร็งปอด คือ ไม่สูบบุหรี่เลย รวมถึง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะการได้สูดดมควันบุหรี่เข้าไป ก็เสมือนได้สูบบุหรี่ไปด้วย เพราะหากเป็นโรคมะเร็งปอดแล้ว การรักษาอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องยากแต่การรักษาโรคมะเร็งปอดมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร หากใครก็ตามไม่มีเงินสำรองในการรักษาก็อาจทำให้ไม่ได้รับการรักษา และอาจต้องสูญเสียร่างกายไปในที่สุด

ฉะนั้น การป้องกันที่ดีและคุ้มค่าที่สุดคือการทำประกันมะเร็ง ที่มีเงื่อนไขครอบคลุมโรคมะเร็งอย่างคุ้มค่า กับทางอีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์ ที่เป็นโบรกเกอร์ด้านประกันภัยชั้นนำ ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการให้เลือกมากมาย มีเจ้าหน้าที่ด้านการขายและบริการให้คำแนะนำด้านการทำประกันสุขภาพอย่างมืออาชีพ ที่จะคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับท่าน ซึ่งทางอีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์ มีบริการด้านการทำประกันสุขภาพอย่างครบวงจรและคุ้มค่าให้เลือกมากมาย หากท่านสนใจสามารถเข้าไปที่ Easyinsure.co.th ตลอด 24 ชั่วโมง เราอีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์ยินดีต้อนรับทุกท่านเสมอ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ : bumrungrad.com
  • โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ : siphhospital.com
  • พบแพทย์ : podpad.com

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *