COVID-19

COVID-19 คืออะไร เชื้อไวรัสที่อันตรายที่สุด พร้อมวิธีป้องกัน

วิกฤติระดับชาติในขณะนี้คงต้องยกให้กับ วิกฤติเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก อย่างเช่นในประเทศจีน สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่นับวันมียอดผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และทางการแพทย์เองก็ยังไม่สามารถหาวิธีรักษาโรคระบาดนี้ได้เลย กลายเป็นภัยวิกฤตที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่ากลัวที่สุดที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด

โดยในขณะนี้ มีเพียงวิธีการป้องกันด้วยตัวเองที่เห็นจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด กินร้อนช้อนกลาง หมั่นล้างมือน้ำสบู่ หรือ ล้างด้วยแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ก่อนหยิบจับสิ่งของหรืออาหารการกินเข้าปาก แต่เพื่อความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เรามาทำความรู้จักกับเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรน่า หรือโรคโควิด-19 นี้ให้กระจ่างชัดกันก่อนดีกว่า

COVID-19 คืออะไร

การตั้งชื่อทางการของเชื้อไวรัสก่อโรคโคโรนา องค์การอนามัยโลกมีจุดประสงค์ในการตั้งชื่อ โควิด-19 เพื่อมิให้เกิด รอยมลทิน กับประเทศ พื้นที่ ประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับจุดกำเนินของการระบาดของโรคนี้ โดยเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรน่า มีชื่อที่ใช้ในตอนแรกคือ 2019-nCoV หรือชื่อทางการในปัจจุบันคือ SARS-CoV-2 ชื่อของโรคติดเชื้อชนิดนี้เรียกว่า COVID-19 ย่อมาจาก CO แทน Corona, VI แทน Virus, D แทน disease และ 19 แทน 2019

ต้นตอของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มาจากที่ใด

จากการศึกษารหัสพันธุกรรมและการเรียงลำดับของรหัสแต่ละตัว สามารถบอกถึงต้นตอของเชื้อ โดยการศึกษาพบว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีจำนวน 29,903 นิวคลีโอไทด์ มีลักษณะที่เหมือนกันถึงร้อยละ 89.1 ของ SARS-like Coronaviruses ในค้างคาวที่พบในจีน จึงจัดให้เชื้ออยู่ในจีนัส Betacoronavirus, ซับจีนัส Sarbecovirus เป็นสมาชิกลำดับที่ 7 ของ Coronaviridae ที่ก่อโรคในคน

ปัจจุบันทราบแต่เพียงว่าต้นตอมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาวทำให้ได้เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีการศึกษายีนของเชื้อชนิดนี้ในตัวลิ่น หรือตัวนิ่ม พบว่ามีรหัสพันธุกรรม SARS-CoV-12 ร้อยละ 99 ซึ่งตัวลิ่นมีแกนสันหลังและเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงอาจเป็น Intermediate host ก่อนแพร่เชื้อสู่คน

อ่านเพิ่มเติม : ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ แห่งเมืองอู่ฮั่น เกิดจากอะไร

การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2

เชื้อโรคนี้มีการแพร่กระจายมาจากเชื้อทางอากาศ Airborne จึงก่อให้เกิดโรคในทางเดินหายใจ สำหรับสัตว์ที่แพร่เชื้อต้องร้องพ่นสิ่งคัดหลั่งออกมาทางปาก หรือ ผู้ป่วยต้องไอ ไอมีเสมหะ ผู้ที่อยู่ใกล้สูดดมเชื้อในอากาศผ่านทางฝอยละอองขนาดใหญ่ Droplet และฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนเรียกว่า Aerosol เข้าทางเดินหายใจ ผู้จะติดเชื้อได้ต้องอยู่ในระยะ 1-2 เมตร อาจจะติดเชื้อจากการสูดฝอยละอองขนาดใหญ่และฝอยละอองขนาดเล็กจากการไอจามรดกันโดยตรง แต่ถ้าหากห่างกัน 2 เมตรขึ้นไปจะติดเชื้อจากการสูดฝอยละอองขนาดเล็ก สำหรับการแพร่เชื้อโดยการสัมผัส เช่น การจับมือกัน หรือ ใช้ของสาธารณะร่วมกัน แล้วมาแคะจมูกหรือเช็ดตาตนเองแล้วติดเชื้อพบได้น้อยมาก

เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไปในเซลล์มนุษย์แล่ะกอโรคได้อย่างไร

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว เชื้อไวรัสจะเข้าไปแบ่งตัวและเจริญเติบโตในเซลล์มนุษย์ เชื้อจะใช้ผิวเซลล์ของไวรัสจับกับ Angiotensin Converting Enzyme II ที่ผิวเซลล์มนุษย์เข้าไปเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนเชื้อในเซลล์มนุษย์ และจะเพิ่มจำนวนและปล่อยเชื้อไวรัสออกมานอกเซลล์เพื่อก่อโรคในเซลล์ข้างเคียงต่อไป ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็ยิ่งทำลายเซลล์มนุษย์ในหลอดลมและปอด ทำให้ปอดอักเสบ การหายใจล้มเหลวที่สุด

ระยะฟักตัวของโรค COVID-19 คือกี่วัน

สำหรับระยะฟักตัวของโรคโควิด-19 คือ ประมาณภายใน 14 วัน แต่มีช่วงเวลาระหว่าง 0-24 วัน ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมีระยะฟักตัว 3 วัน ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยหนักมีระยะฟักตัว 2 วัน ดังนั้นผู้ป่วยร้อยละ 98 ขึ้นไปมีอาการภายใน 14 วัน และส่วนมากมีอาการระหว่าง 3-7 วัน

ความน่ากลัวของเชื้อไวรัส COVID-19

ความน่ากลัวที่ว่านี้คือ เชื้อไวรัสชนิดนี้มันเป็นสิ่งที่ทนมาก ๆ สามารถติดอยู่บนราวจับต่าง ๆ ได้ ราวจับบนรถไฟฟ้า ราวจับบนรถเมล์ ติดอยู่บนโต๊ะ กำแพง คอมพิวเตอร์ เบาะรถยนต์ ได้นานถึง 9 วันจากการวินัยและทดสอบได้มีการออกมายืนยันว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถอยู่ในสภาวะปกติที่อากาศธรรมดาได้ถึง 9 วัน แต่ถ้าอุณหภูมิประมาณ 4 องศาจะอยู่ได้นาน 28 วัน

เชื้อไวรัส COVID-19 มีความอันตรายไหม

กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้กล่าวถึงการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นโรคอันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ พ.ศ.2558
สิ่งที่ทำได้คือการป้องกันตัวเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศเสี่ยง หลีกเลี่ยงการชุมนุมหรือสถานที่แออัด รับประทานอาหารที่ปรุงสุก กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้งที่จะหยิบจับอะไรเข้าสู่ร่างกาย ใส่หน้ากากอนามัย ออกกำลังกายเป็นประจำ

ใครคือผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อนั้น หนีไม่พ้นที่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ผู้ที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะที่น่ากลัวคือในระยะที่ยังไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้ และการเข้าไปในที่ชุมชนแออัดอาจมีผู้ป่วยปะปนอยู่ หรือ มีผู้เดินทางมาจากดินแดนที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น จีนตอนใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

การจำกัดสถานที่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อใช้เวลากี่วันต้องกักกัดตนเองในบ้าน

โดยทั่วไป เราใช้เวลา 14 วันในการจำกัดสถานที่ให้ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิเสี่ยงติดโรค ในระยะ 1-14 วันแรกของระยะฟักตัว ให้อยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงหรือแพทย์ที่ได้รับมอบหมาย หากผลการตรวจด้วยวิธี qRT-PCR จากสิ่งคัดหลั่งในระบบหายใจให้ผลลบ ก็สามารถกลับไปอยู่ที่บ้านได้ ทั้งนี้เพิ่มความปลอดภัยให้แก่สาธารณชน เมื่อผู้สัมผัสเชื้อกลับไปอยู่บ้าน 14 วัน ผู้นั้นควรอยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการเข้าชุมชนแออัด หรือจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หลังจาก 24 วันแล้วยังไม่มีไข้หรือไอ ให้ถือว่าผู้นั้นไม่แพร่เชื้อและไม่ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2

อาการของผู้ติดเชื้อโรค COVID-19

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการ มีไข้สูง ไอ ไอมีเสมหะ หายใจเร็ว หรือ หอบ จากปอดบวม น้อยรายที่มีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล หรือ อุจจาระร่วง หากป่วยรุนแรง จะหายใจเร็ว หอบ จนถึงการหายใจล้มเหลวและช๊อคได้

วิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาผู้ติดเชื้อโรค COVID-19

เราสามารถตรวจพบเชื้อได้จากสิ่งคัดหลั่งในทางเดินหายใจ เลือด อุจจาระและปัสสาวะ แต่ไม่ได้บอกว่าจำนวนเชื้อที่พบเป็นเชื้อที่มีชีวิตทั้งหมด วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยในการติดเชื้อในขณะนี้
สำหรับการตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgM จากเลือดต่อเชื้อชนิดนี้ด้วยวิธี ICT จะได้เมื่อผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรคแล้ว การตรวจจะให้ผลลบที่หลอกได้ในผู้ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคหรือผู้ที่ไม่แสดงอาการ

มียารักษาโรค COVID-19 แล้วหรือยัง

ขณะนี้ยังไม่มียามาตรฐานที่รับรองว่าใช้ได้ผลดี ยาที่ใช้และปรากฏในข่าวขณะนี้คือเป็นยาทดลองใช้เท่านั้น ทั้งยาต้านไวรัส remdesivir, chloroquine, interferon ชนิดพ่น นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ในจีน น่าจะเป็นผู้ที่ประกาศและให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือพร้อมกับวารสารทางการแพทย์ชั้นนำว่า ยาที่ใช้ได้ผลและปลอดภัยน่าจะภายในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

หลักการการสวมใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง

การใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกวิธีสามารถป้องกันเชื้อได้ถึง 80% สำหรับหน้ากากอนามัยประกอบด้วย 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอกจะมีสารเคลือบกันน้ำ ชั้นกลางมีกรองเชื้อโรค และชั้นในเป็นวัสดุนุ่มเพื่อสัมผัสกับผิว วิธีใส่ให้เอาด้านมันหรือสีเข้มไว้ด้านหน้า เอาด้านนุ่มหรือสีอ่อนเข้าหาตัว

ขั้นตอนการใส่หน้ากากอนามัย

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนหลังสวมและถอดหน้ากากทุกครั้ง
  2. จับสายคล้องหูทั้ง 2 ข้าง
  3. สวมคลุมจมูกและปาก หันหน้าสีเข้มออก
  4. ดัดลวดให้แนบกับสันจมูกและใบหน้า
  5. ดึงขอบล่างให้คลุมใต้คาง

อ่านเพิ่มเติม : ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร เกิดจากอะไร มาจากไหน วันนี้รู้คำตอบ

ความแตกต่างระหว่าง COVID-19 กับ ไข้หวัดทั่วไป

โคโรน่าไวรัส หรือโควิด-19 กับไข้หวัดทั่วไป เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าเหมือนกัน โดยไข้หวัดทั่วไปมักเกิดจากไรโนไวรัสถึง 30-80% รองมาคือ โคโรนาไวรัส 10-15% แพร่ผ่านละอองจากอากาศ น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย

อาการ COVID-19 ไข้หวัดทั่วไป
มีไข้ น้ำมูกไหล มีไข้สูงกว่า 37 องศา มีไข้สูงผ่านไป 3-4 วัน อาการเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ไอจาม มีเสมหะ ไอ มีเสมหะ เจ็บคอนานเกิน 4 วัน เสมหะอาจมีเลือดติดมา อาจมี ไอ จาม เล็กน้อย ผ่านไป 3-4 วัน อาการก็จะดีขึ้น
ถ่ายเหลว ท้องเสีย บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่มีอาการท้องเสีย
หายใจลำบาก หายใจลำบาก รายที่รุนแรงจะมีปอดอักเสบ หรือปอดบวม มีอาการคัดจมูก น้ำมูกอุดตัน ทำให้หายใจลำบาก
ปวดตามตัว ปวดตัวเมื่อยตัว ทานอะไรไม่ลง อ่อนเพลีย ปวดตามตัว

การป้องกันการติดเชื้อวิธีอื่น ๆ

  • สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า
  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือ ด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือ
  • ไม่นำมือสัมผัสตา
  • ระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดขณะทำงาน
  • หากมีอาการป่วย ควรรีบไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ พร้อมแจ้งประวัติการคลุกคลีกับผู้ป่วย
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  • นอนหลับให้เพียงพอ

ถึงแม้เรื่องราวของ COVID-19 จะเป็นเรื่องที่น่ากลัวและเป็นวิกฤตระดับชาติไปแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่อยากให้วิตกกังวลกับเรื่องนี้จนไม่กล้าทำอะไรเลย หรือ ไม่กล้าออกนอกบ้าน ดังนั้นเพียงแค่ขอให้ทุกคนมีสติ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ หรือดินแดนที่เสี่ยงกับโรคนี้ ไม่สัมผัสกับผู้ป่วย ดูแลตัวเองและคนในครอบครัว กินร้อนช้อนกลาง หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ และ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ออกกำลังกาย ทานอาหารครบ 5 หมู่ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่แออัด เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยได้แล้ว

อ้างอิงข้อมูล : ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *